วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓




ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้จงทรงพระเกษมสำราญ มีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ทรงเจริญพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน สถิตย์เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ธรรมนีติ


สตํ จกฺขู สตํ กณฺณา นายกสฺส สุโต สทา
ตถาปิ อนฺธิ พธิโร เอสา นายก ธมฺมตา

ผู้นำย่อมเป็นผู้มีตาหูนับร้อย
จึงได้ทราบเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา
แม้กระนั้นก็พึงทำเป็นคนตาบอดหูหนวกเสียบ้าง
นี้เป็นลักษณะของผู้นำ

(ธรรมนีติ 234)

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตักบาตรเป็งปุ๊ด ที่จังหวัดเชียงราย

พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด (เพ็ญพุธ) ที่จังหวัดเชียงราย วันที่ 24-25 สิงหาคม 2553





วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓



ในวโรกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้จงทรงพระเกษมสำราญ ปราศจากพระโรคาพาธ ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พระโอวาท สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วันอาสาฬหบูชา ๒๕๕๓




พระโอวาท สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
วันอาสาฬหบูชา ๒๕๕๓


“วันอาสาฬหบูชา เป็นวันบูชาที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในพุทธศาสนา ตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือ เดือนอาสาฬหะ เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ ๒ เดือน ได้ทรงแสดงพระปฐมเทศนา ทรงประกาศพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรกโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี ท่านโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่า “สิ่งใด สิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” โดยสมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปล่งพระพุทธวาจา ให้เป็นที่ประจักษ์ ว่า อัญญาโกณฑัญญะ” คือ “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” วันนั้นจึงเป็นวันที่ พระรัตนตรัยเกิด ครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์แรกที่เกิดขึ้น คือ ท่านโกณฑัญญะ ด้วยพระบารมี พระรัตนตรัย จงมั่นใจและจงปฏิบัติเทิดทูนบูชาพระรัตนตรัย ให้เต็มจิตใจทุกเวลา ขออำนวยพร”

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พระปฐมบรมราชโองการ




พระปฐมบรมราชโองการ
ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม


พระปฐมบรมราชโองการนี้ สงเคราะห์เข้าในหลักทศพิธราชธรรม สมดังพระพุทธวจนะว่า
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ
ตโต เต ชายเต ปีติ โสมนสฺสญฺจนปฺปกํ
ขอพระองค์ผู้เป็นบรมกษัตริยาธิราช จงทรงพระปรีชาสามารถพิจารณาเห็นราชธรรมที่เป็นกุศลส่วนชอบ ๑๐ ประการ ให้ดำรงในพระราชสันดานเป็นนิตย์ ดังนี้
ทาน การให้ ๑
สีลํ การตั้งสังวรรักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดปราศจากโทษ ๑
ปริจฺจาคํ การบริจาคสละ ๑
อาชฺชวํ ความซื่อตรง ๑
มทฺทวํ ความอ่อนโยน ๑
ตปํ การกำจัดความเกียจคร้านและความชั่ว ๑
อกฺโกธํ การไม่โกรธ ๑
อวิหึสญฺจ การไม่เบียดเบียนผู้อื่นตลอดถึงสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก ๑
ขนฺติญฺจ ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทนเป็นเบื้องหน้า ๑
อวิโรธนํ การปฏิบัติไม่ให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรงและดำรงอาการคงที่ ไม่ให้วิการด้วยอำนาจยินดียินร้าย ๑
บรรจบเป็นกุศลส่วนชอบ ๑๐ ประการ ลำดับนั้นพระปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจักเกิดมีแต่พระองค์ เพราะได้ทรงพิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้มีในพระองค์เป็นนิตย์ ดังนี้
คำโศลกแสดงธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นภาษิตของบัณฑิตผู้เกิดนอกพุทธกาลมาก่อน ภายหลังจึงนำมาร้อยกรองเป็นคำสอนในคัมภีร์พุทธศาสนา เพราะมี ๑๐ อย่าง จึงเรียกว่า ทศพิธ เพราะเป็นธรรมสำหรับพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ปกครองประชาชน จึงเรียกราชธรรม
อนึ่ง หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองยังได้แก่ ราชสังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร และพละกำลังของพระมหากษัตริย์เจ้า อันโบราณบัณฑิตได้กล่าวแสดงไว้โดยปริยายอื่นอีก
สังคหวัตถุ คือ พระราชจรรยานุวัตร เป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์ยึดหน่วงน้ำใจประชาชน เป็นราชนิติธรรมเก่าแก่ มีที่มาทั้งในทางพุทธศาสน์และพราหมณศาสน์ จำแนกเป็น ๕ ประการ แสดงอธิบายตามทางพุทธศาสน์คือ:
สสฺสเมธํ ความที่ทรงพระปรีชาในการบำรุงธัญญาหารผลาหารให้บริบูรณ์ในพระราชอาณาเขตโดยอุบายนั้นๆ เพื่อให้สรรพผลอันเกิดแต่เกษตรมณฑลอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคหวัตถุที่ ๑
ปุริสเมธํ ความที่ทรงพระปรีชาในการสงเคราะห์บุรุษ คือสงเคราะห์พระราชวงศานุวง์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ประกอบราชกิจฉลองพระคุณ ทั้งฝ่ายทหารทั้งฝ่ายพลเรือนด้วยวิธีนั้นๆ เป็นต้น ว่าทรงยกย่องพระราชทานยศฐานันดรศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่ โดยสมควรแก่กุลวงศ์ วิทยาสามารถและความชอบในราชการ เป็นสังคหวัตถุที่ ๒
สมฺมาปสํ อุบายเครื่องผูกคล้องน้ำใจประชานิกรให้นิยมยินดี คือ ทรงบำบัดความทุกข์เดือดร้อน บำรุงให้เกิดความสุข ความเจริญแก่ราษฎร และบ้านเมืองด้วยอุบายต่างๆ ปรากฏพระคุณเป็นเครื่องผูกใจประชาชนให้จงรักภักดียิ่งๆ ขึ้น เป็นสังคหวัตถุที่ ๓
วาจาเปยฺยํ ตรัสพระวาจาอ่อนหวานควรดื่มไว้ในใจ ทำความเป็นที่รักให้เกิด เช่น ทรงทักทายปราศรัยแก่บุคคลทุกชั้น ตลอดถึงราษฎรสามัญทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย โดยควรแก่ฐานะและภาวะ เป็นสังคหวัตถุที่ครบ ๔
๔ สังคหวัตถุนี้ เป็นอุบายให้เกิดสุขสมบัติ ซึ่งได้นามบัญญัติว่า นิรคฺคฬํ รัฐมณฑลราบคาบปราศจากโจรภัย จนถึงมีทวารเรือนไม่ลงกลอนเป็นคำรบ ๕
สํ.ส. ๑๕/๓๕๑/๑๑๐; องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๙/๕๔; องฺ. อฏฐก. ๒๓/๙๑/๑๕๒
ขุ. อิติ. ๒๕/๒๐๕/๒๔๖; ขุ. สุ. ๒๕/๓๒๓/๓๘๓; สํ. อ. ๑/๑๖๙; อิติ. อ. ๑๒๓

จักรวรรดิวัตร คือ พระราชจรรยานุวัตรสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิพระราชาเอกในโลก ท่านแสดงไว้โดยความว่า พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ปกครองประชาชน ทรงอิงอาศัยสักการะ เคารพนับถือ บูชาธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นใหญ่เป็นอธิบดี ทรงจัดการรักษาคุ้มครองป้องกันอันประกอบด้วยธรรมให้เนื่องในจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ คือ
ที่ ๑ ควรพระราชทานโอวาทและอนุเคราะห์อันโตชนคนภายในพระราชสำนัก และทรงอนุเคราะห์คนภายนอก คือพลกายกองเสนาด้วยประการต่างๆ จนถึงราษฎร ไม่ปล่อยปละละเลย
ที่ ๒ ควรทรงผูกพระราชไมตรีสมานราชสัมพันธ์มิตรกับกษัตริย์ ประธานาธิบดีแห่งประเทศนั้นๆ
ที่ ๓ ควรทรงสงเคราะห์อนุยันตกษัตริย์ คือพระราชวงศานุวงศ์ ตามสมควรแก่พระอิศริยยศ
ที่ ๔ ควรทรงเกื้อกูลพราหมณ์ คฤหบดี และคฤหบดีชน
ที่ ๕ ควรทรงอนุเคราะห์ประชาชนชาวนิคมชนบทโดยฐานานุรูป
ที่ ๖ ควรทรงอุปการะสมณฑราหมณ์ผู้มีศีลประพฤติชอบ ด้วยพระราชทานไทยธรรมบริกขารเกื้อกูลแก่ธรรมปฏิบัติ
ที่ ๗ ควรทรงจัดรักษาฝูงเนื้อและนกด้วยพระราชทานอภัยไม่ให้ใครเบียดเบียน ทำอันตรายจนเสื่อมสูญพันธุ์
ที่ ๘ ควรทรงห้ามชนทั้งหลายไม่ให้ทำกิจการที่ไม่ประกอบด้วยธรรม ชักนำให้ตั้งอยู่ในกุศลสุจริตส่วนชอบ ประกอบการเลี้ยงชีพโดยทางธรรม
ที่ ๙ ชนใดขัดสนไม่มีทรัพย์พอเลี้ยงชีพโดยสัมมาอาชีวะได้ ควรพระราชทานพระราชทรัพย์เจือจานให้เลี้ยงชีพ ด้วยวิธีอันเหมะสม ไม่แสวงหาด้วยทุจริต
ที่ ๑๐ ควรเสด็จเข้าไปใกล้สมณพราหมณ์ตรัสถามถึงบุญบาปกุศลอกุศลให้ประจักษ์ชัด
ที่ ๑๑ ควรทรงตั้งวิรัติห้ามจิตไม่ให้เกิดอธรรมราคะในอคนิยสถาน ที่อันไม่ควรถึง
ที่ ๑๒ ควรทรงประหารวิสมโลภเจตนา ห้ามจิตมิให้ปรารถนาลาภที่ไม่ควรจะได้
ที. ปา. ๑๑/๓๕/๖๕

พละกำลังของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ๕ ประการ คือ
ข้อ ๑ กายพลํ กำลังพระกาย สมบัตินี้เกิดแต่ทรงผาสกสบายปราศจากพระโรค เพราะพระมหากษัตริย์ย่อมทรงเป็นจอมทัพ ทั้งต้องทรงปฏิบัติพระราชกรณีย์ต่างๆ จำต้องทรงพละกำลังเข้มแข็ง ถ้าขาดสมบัติข้อนี้แม้แต่จะทรงราชการก็คงไม่สะดวกได้ดี จึงควรบริหารพระองค์ให้ทรงพละกำลัง
ข้อ ๒ โภคพลํ กำลังคือโภคสมบัติ อันพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า มีพระราชกิจที่พึงทรงจัด ทรงทำ และพึงมีบุคคลที่พึงบำรุงเลี้ยงเป็นอันมาก จึงควรทรงขวนขวายบำรุงกสิกรรมพานิชกรรมเป็นต้น อันเป็นทางเกิดแห่งพระราชทรัพย์ให้ไพศาล
ข้อ ๓ อมจฺจพลํ กำลังคืออำมาตย์ อันพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า มีราชการที่จะทรงทำมากกว่ามาก จึงต้องมีอมาตย์ผู้ใหญ่น้อยเป็นกำลังทางนิติบัญญัติ ทางบริหารและทางตุลาการ จึงควรทรงสอดส่องวุฒิของหมู่อมาตย์แล้วยกย่องและบำราบตามควรแก่เหตุ
ข้อ ๔ อภิชจฺจพลํ กำลังคือพระชาติสูง สมบัติข้อนี้เป็นที่นิยมของมหาชน เป็นผลที่มีมาเพราะปุพเพกตปุญญตา คือได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอบรมมาแต่ในกาลก่อน เป็นเหตุให้ประพฤติดีประพฤติชอบได้โดยง่าย
ข้อครบ ๕ ปญฺญาพลํ กำลังคือปัญญา พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ทรงประกอบพระราโชบายให้ลุล่วงอุปสรรคทั้งหลาย ต้องทรงมีพระปรีชาญาณรอบรู้ รอบคอบและสามารถ จึงควรทรงแสวงหาทางมาแห่งปัญญา ด้วยทรงวิจารณ์เหตุการณ์ภายในภายนอก อันเป็นไปในสมัยเพื่อพระญาณแจ้งเหตุผลประจักษ์ชัด
ขุ. ชา. ๒๗/๒๔๔๔/๕๔๓; ช. อ. ๗/๓๔๘

ที่มา: คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. 2530. พระบรมราโชวาท. ทรงวิทย์ แก้วศรี, ประภาส สุระเสน, ชนินท์ สุขเกษี และ ประสิทธิ์ จันรัตนา (บรรณาธิการ). จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐. หน้า 2-4

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๓



วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๔ ปี ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว


พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว
โดย พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร

คัดลอกจาก http://www.ybat.org/

ด้วยพระเมตตา แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิ พลอดุลยเดช ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อพสกนิกร ชาวไทยพระองค์ประดุจพระผู้สร้างแผ่นดิน ทรงเป็นดั่งผู้ มอบชีวิต มอบความรุ่งเรือง มอบความเจริญงอกงามภายใน หัวใจคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นแรง บันดาลใจจุดประกายพลังแผ่นดิน

หากเราได้มีโอกาสศึกษาพระบรม ราโชวาท แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เราจะเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดด้วยคำสอน ที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ แต่ละข้อ แต่ละอย่างนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากการที่พระองค์ ทรงไตร่ตรองพิเคราะห์ถึงปัญหานั้น อย่างถ่อง แท้ แล้วว่าจะเป็นหนทางแห่งการแก้ปัญหา การดับทุกข์ได้ด้วยสมาธิ

ธรรมดาสภาวะจิตอันเป็นสมาธินั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นจากการบังคับควบคุม เกิดขึ้นจาก ความผ่อนคลาย หรือเกิดขึ้นจากภาวะคับขันต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าจะทำให้ต้อง เร่งรวบรวมสติให้มั่น ไม่ว่าสมาธิจะเกิดขึ้นอย่างไร สมาธิเป็นของดี เป็นของที่เกิดขึ้นได้จากการ ฝึกฝน เป็นของที่มีอยู่ในกาย และในจิตอันพร้อมเป็นของเข้าใจได้ เป็นของเข้าใจง่าย และใช้ได้ กับคนทุกเพศทุกวัยและความเข้าใจอันแจ่มชัดที่แสดงให้เห็นว่า สมาธิ เองก็มิใช่ของที่เกิดขึ้น โดยลำพังหรือใช้โดยลำพัง แต่สมาธิที่ดีจะยังประโยชน์แก่ผู้อื่นได้มากหากผู้ใช้สมาธิรู้จักการ ปฏิบัติอันถูกต้อง ถูกต้องทั้งแก่ตนแลถูกต้องทั้งแก่ผู้อื่น ดังที่ได้ศึกษาจากรอยพระจริยวัตร แห่ง องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันได้แสดงไว้ถึงเรื่องราวของ "พระสมาธิ"

ผู้ที่เคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานหรือพิธีที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องประทับอยู่ เป็นเวลานานๆ เช่น ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร คงจะได้เห็นด้วยความพิศวงกันทุกคนว่า พระเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อทรงนั่งลงแล้ว จะประทับอยู่ในพระอิริยาบถนั้นตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนกระทั่ง จบไม่ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย

นอกจากนั้น ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างกระฉับกระเฉง ต่อเนื่อง ไม่มีพระอาการที่ แสดงว่าทรงเหนื่อย หรือทรงเบื่อเลย ผมเคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแห่ง หนึ่งในกรุงเทพมหานคร พิธีนั้นยาวถึงประมาณ ๔ ชั่วโมง และมี บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเฝ้าฯ รับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นจำนวนหลายพันคน ได้เห็นเหตุ การณ์เช่นว่านั้น แต่ผมได้เห็นมากกว่านั้นคือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไปถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในตอนค่ำวันนั้น พระเจ้าอยู่หัวยังทรงออกพระกำลังบริหารพระวรกายด้วยการวิ่งใน ศาลาดุสิตาลัยอีก

ในการประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติด้วยพระอาการที่ แสดงว่า เอาพระทัยจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ทรงเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย เช่น ในการทรงดนตรี ( ที่ใครๆ มักจะนึกว่าเป็นการหย่อน พระราชหฤทัย) เป็นต้น ผมเคยเห็น พระเจ้าอยู่หัวประทับทรงดนตรี ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง โดยทรงนั่งไม่ลุกเลยแม้แต่จะเพื่อเสด็จฯ ไปห้องสรงในขณะที่นักดนตรีอื่นๆ ลงกราบแล้วถอยหลังลุกไปเข้าห้องน้ำกันเป็นครั้งคราวทุกคน

ในการทรงเรือใบก็เช่นเดียวกัน ทรงจดจ่ออยู่กับการบังคับเรืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระ ทั่งจบ ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ ด้วยความฉงนว่าเสด็จฯ กลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้าซึ่งในกติกาการแข่ง เรือใบถือว่า ฟาวล์ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเห็น

แสดงว่าการทรงดนตรีก็ดี ทรงเรือใบก็ดี สำหรับพระเจ้าอยู่หัว เป็นงานอีกชนิดหนึ่ง ที่จะต้อง ทำด้วยความจดจ่อและต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสร็จเหมือนกัน

พระราชกรณียกิจอื่นๆ ทั้งน้อยและใหญ่ ทรงปฏิบัติแบบเดียวกัน คือด้วยการเอาพระราชหฤทัย จดจ่อไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำๆ หยุดๆ เพราะฉะนั้น จึงจะเห็นว่าพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้น สำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่

ผมไปรู้เอาหลังจากที่เข้ารับราชการในตำแหน่งนายตำรวจราช สำนักประจำอยู่ได้ไม่นานว่าที่ ทรงสามารถจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจทุกชนิดได้เช่นนั้นก็เพราะพระสมาธิ

ผมไม่ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มฝึกสมาธิตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเริ่มในเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หลังจากทรง ผนวชแล้ว ประทับจำพรรษาอยู่ที่พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอยู่ในสมณเพศเป็น เวลา ๑๕ วัน ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งทรงเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ทรงเลือกสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เมื่อครั้งยัง เป็นพระโสภณคณาภรณ์) ให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทราบกันดี ว่า แม้จะทรงมีเวลาน้อยแต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อย่างเคร่งครัด และคงจะได้ทรงฝึกเจริญพระกรรมฐานในโอกาสนั้นด้วย

เมื่อผมเข้าไปเป็นนายตำรวจราชสำนัก ประจำในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นั้น ปรากฏว่าการศึกษา และปฏิบัติสมาธิหรือกรรม ฐาน ในราชสำนักกำลังดำเนินอยู่แล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติ เป็นประจำ และข้าราชสำนักข้าราชบริพารหลายคน ทั้งฝ่าย พลเรือน และทหารก็กำลังเจริญรอยพระยุคลบาทอยู่ด้วยการ ฝึกสมาธิอย่างขะมักเขม้น

ผมไม่ได้ตั้งใจจะหัดสมาธิ แม้จะเคยศึกษามาก่อน โดย เฉพาะจากหนังสือของ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แต่ ระหว่างการตามเสด็จฯ โดยรถไฟ จากกรุงเทพมหานคร ไปอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ การเดินทางไกลกว่าที่ผมคาดคิด หนังสือเล่มเดียวที่เตรียมไปอ่านฆ่าเวลาบนรถไฟ ก็อ่านจบเล่ม เสียตั้งแต่กลางทาง ขณะนั้นผมเห็นนายทหารราชองครักษ์ ประจำที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความ ปลอดภัยร่วมกันสองนาย ใช้เวลาว่างนั่งหลับตาทำสมาธิ ผมจึงลองทำดูบ้างโดยใช้อานาปานสติ (คือกำหนดรู้แต่เพียงว่ากำลังหายใจเข้า และหายใจออก) อันเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ และ ท่านอาจารย์พุทธทาสแนะนำ ปรากฏว่าจิตสงบเร็วกว่าที่ผมคาด แลเห็นนิมิตเป็นภาพสีสวยๆ งามๆ มากมายและเป็นเวลาค่อนข้างนานด้วย ตั้งแต่นั้นมาผมก็ติดสมาธิและกลายเป็นอีกผู้หนึ่ง ที่ปฏิบัติสมาธิเป็นประจำมาจนทุกวันนี้

เมื่อความทราบถึงพระกรรณว่าผมเริ่ม ปฏิบัติสมาธิ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกรุณาพระราชทาน หนังสือ และแถบบันทึกเสียงคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ ลงมา และบางครั้งก็ทรงพระกรุณา พระราชทานพระราชดำรัส แนะนำด้วยพระองค์เอง ผมจึงได้รู้ว่า พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว นั้นก้าวหน้าไปแล้วเป็นอันมาก รับสั่งเล่าเองว่าแม้จะทรงใช้ อานาปานสติ เป็นอุบายในการทำ สมาธิ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงสามารถที่จะกำหนดพระอัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) และพระปัสสาสะ (ลมหายใจออก) ได้แต่ลำพัง ต้องทรงนับกำกับ วิธีนับของพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงทำดังนี้ หายใจเข้าครั้งที่หนึ่งนับหนึ่ง หายใจเข้าครั้งที่สอง นับสอง หายใจเข้าครั้งที่สาม นับสาม หายใจเข้าครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจเข้าครั้งที่ห้า นับห้า หายใจออกครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง หายใจออกครั้งที่สอง นับสอง หายใจออกครั้งที่สาม นับสาม หายใจออกครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจออกครั้งที่ห้า นับห้า

เมื่อถึงห้าแล้ว หากจิตยังไม่สงบ ก็นับถอยหลังจากห้าลงมาหาหนึ่ง แล้วนับจากหนึ่งขึ้นไปหา ห้าใหม่ กลับไปกลับมาเช่นนั้น จนกว่าจิตจะสงบ

รับสั่งว่า ที่เห็นพระองค์ประทับอยู่นิ่งๆ นั้น พระจิตทรงอยู่กับหนึ่งเข้าหนึ่งออกตลอดเวลา

พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่องสมาธิ ด้วยการรวบรวม และประมวลคำสอนของครูบาอาจารย์ทุก คน แล้วก็ทรงพระกรุรา พระราชทานประมวลคำสอนนั้นแก่ผู้ที่ทรงทราบว่ากำลังปฏิบัติ สมาธิอยู่

ครั้งหนึ่ง ทรงพระกรุณาพระราชทานแถบบันทึกเสียงของ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ให้ผม รับสั่งว่าเป็นบันทึกเสียงการ แสดงธรรมเรื่อง ฉฉักกสูตร (คือพระสูตรว่าด้วยธรรมะ หมวด ๖ รวม ๖ ข้อ ซึ่งอธิบายความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวมีตนของสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และตัณหา พระสูตรนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน) และ ทรงแนะนำให้ผมฟังธรรมบทนั้น

ผมรับพระราชทานแถบบันทึกเสียงม้วน นั้นมาแล้วก็เอาไป ใส่เครื่องบันทึกเสียงและเปิดฟัง ฟังไปได้ไม่ทันหมดม้วนก็ ปิดแล้วก็เก็บเอาไว้ไม่ได้ฟังอีก หลังจากนั้นไม่นานนัก ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า ฟังเทปของสมเด็จฯ แล้วหรือยัง เป็นอย่างไร

ผมไม่อาจจะกราบบังคมทูลความอันเป็น เท็จได้ ต้องกราบบังคมทูลตรงๆ ว่าฟังได้ไม่ทันจบ ม้วนก็ได้หยุดฟังเสียงแล้ว ตรัสถามต่อไปถึงเหตุผลที่ผมไม่ฟังให้จบ และผมก็จำเป็นต้องกราบ บังคมทูลตรงๆ ว่า สมเด็จฯ ท่านเทศน์ฟังไม่สนุก พูดขาดเป็นวรรคๆ เป็นห้วงๆ เนื่องจากสมเด็จฯ พิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำและประโยคเทศน์ของท่านนั้น ถ้าเอามาพิมพ์ก็จะอ่านได้สบายกว่าฟัง

พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า ที่ฟังสมเด็จฯ เทศน์ไม่รู้เรื่องนั้นก็เพราะคิดไปก่อนใช้หรือไม่ว่า สมเด็จฯ ท่านจะพูดว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ครั้นท่านพูดช้ากว่าที่คิด หรือพูดออกมาแล้วไม่ตรงกับที่ คาดหมายจึงเบื่อ เมื่อผมนิ่งไม่กราบบังคมทูลตอบ ก็ทรงแนะนำว่า ให้กลับไปฟังใหม่ คราวนี้อย่า คิดไปก่อนว่าสมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร สมเด็จฯ หยุดก็ให้หยุดด้วย ผมกลับมาทำตามพระราช กระแสรับสั่ง เปิดเครื่องบันทึกเสียงฟังเทศน์ของสมเด็จฯ จากแถบบันทึกเสียงม้วนนั้นใหม่ตั้ง แต่ต้น ฟังด้วยสมาธิ

สมเด็จฯ หยุดตรงไหน ผมก็หยุดตรงนั้น และ ไม่คิดๆ ไปก่อนว่า สมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร คราวนี้ ผมฟังได้จนจบและเห็นว่าจริงดังพระราชดำรัส แถบบันทึกเสียงม้วนนั้น เป็นม้วนที่ดีที่ สุดม้วนหนึ่ง

ครั้งหนึ่ง หลังจากที่นั่งสมาธิแล้ว ผมได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและกราบบังคมทูล ประสบการณ์ที่ได้ขณะทำสมาธิ ผมกราบบังคมทูลว่า ขณะที่นั่งสมาธิครั้งนั้น รู้สึกว่าตัวเองลอย ขึ้นจากพื้นสูงประมาณศอกหนึ่ง ทีแรกก็ยังไม่รู้สึกอะไรแต่ครั้นหัวเริ่มคล้อยลงไปข้างหน้า ทำท่า เหมือนจะตีลังกา ผมก็ตกใจและต้องเลิกทำสมาธิ

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ ว่า ถ้าหากสติยังอยู่ ยังรู้ตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรจะ เลิก แต่ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพนั้น

อีกครั้งหนึ่ง หลังจากทำสมาธิแล้ว ผมกราบบังคมทูลว่า พอจิตสงบผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังเลื่อน ต่ำลงไปในท่อขนาดใหญ่ครือตัวผม และที่ปลายท่อข้างล่างผมแลเห็นแสงสว่างเป็นจุดเล็กๆ แสดงว่าท่อยาวมาก กลัวจะหลุดออกจากท่อไป ผมก็เลยเลิกทำสมาธิรับสั่งเช่นเดียวกันว่า หากยังรู้ตัว (มีสติ) อยู่ ก็ไม่ควรเลิก ถึงหากจะหลุดออกนอกท่อไปก็ไม่เป็นไร ตราบเท่าที่สติยัง อยู่ และรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตน

ต่อมาภายหลังจากการศึกษาคำสอนของ ครูปาอาจารย์ทุก ท่าน และโดยเฉพาะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัส สอนให้ "ดำรงสติให้มั่น" ในเวลาทำสมาธิ

ในส่วนที่เกี่ยวกับพระสมาธิของพระ เจ้าอยู่หัว เคยตรัสเล่า ให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังทรงทำสมาธิอยู่ พระจิต สงบและเกิดนิมิต ในนิมิตนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระ เนตรเห็นพระกร (แขนท่อนล่าง) ลอกออกทีละชั้นๆ ตั้งแต่จากพระตจะ (หนัง) ลงไปจนถึงพระอัฐิ (กระดูก)

พระเจ้าอยู่หัวทรงประยุกต์พระสมาธิ ในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและ ใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนัก ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ทรง สะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอัน เป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับ พระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น

ในฐานะที่เกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศที่มีพระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้เป็นพระประมุข และใน ฐานะที่ทุกคนมีหน้าที่ในการทำนุบำรุงเมืองไทยนี้ให้เป็นที่ร่มเย็นของเรา และของลูกหลานของเรา จึงสมควรที่เราจะเจริญรอยประพฤติตามพระยุคลบาทด้วยการศึกษาและปฏิบัติสมาธิ กัน อย่างจริงจัง และนำสมาธิมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา

http://www.dharma-gateway.com/ubasok/special-01.htm

พระราชกฤษฎาภินิหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



พระราชกฤษฎาภินิหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดย พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์


นับตั้งแต่ผมได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยวิชาโหราศาสตร์ดวงดาวในส่วนที่เกี่ยว ข้องกับเรื่อง “อิทธิพลของคราส” ผมได้มีโอกาสอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ชาติไทยซึ่งได้แก่หนังสือพระราช พงศาวดาร และจดหมายเหตุโหรต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการค้นคว้า และได้พบข้อความที่บันทึกไว้ในเอกสารเหล่านี้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ต่าง ๆ ซึ่ง เป็นสิ่งที่บอกเหตุทั้งร้ายและดีของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น อาทิ การเกิดสุริยคราส หรือจันทรคราส พระอาทิตย์ทรงกลด แผ่นดินไหว เป็นต้น ในวันที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงปราบดาภิเษก เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตราธิราชไทย เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๑ ได้ปรากฏข้อความในจดหมายเหตุโหรระบุไว้ว่า

“........ณ วันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือนอ้าย เพลาโมงเศษ เสด็จออกขุนนาง ตรัสประภาษเนื้อความ ...

....... พระราชสุจริต ปรารภตั้งอุเบกขาพรหมวิหาร เพื่อจะทะนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา และ

พระอาณาประชาราษฎร นั้น อัศจรรย์แผ่นดินไหวเป็นเวลาช้านาน..........”

แต่เดิมนั้น ผมในฐานะที่เป็นวิศวกรผู้หนึ่งมิได้ให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้มากนัก เนื่องจากมีความเชื่อว่า เป็นเหตุการณ์ประจวบเหมาะมากกว่า หรือผู้บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ได้มีเจตนาเขียนเพิ่มเติมเหตุการณ์เรื่องราว ในยุคสมัยนั้น ให้ดูขลังเป็นการเสริมพระบารมี พระบรมเดชานุภาพให้แก่พระมหากษัตราธิราชพระองค์หนึ่งพระองค์ใดเป็นพิเศษก็ ได้ จนกระทั่งได้ประสบเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้มาหลายครั้ง จึงเกิดแนวความคิดที่จะประมวลเหตุการณ์สำคัญ ที่มีปรากฏการณ์ธรรมชาติเข้าเกี่ยวข้องต่าง ๆ มาวิเคราะห์โดยใช้หลักวิชาพุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และโหราศาสตร์ มาผสมผสานกัน ผมจึงขอนำบางเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบันมายกเป็นตัวอย่างเล่า สู่กันฟังดังนี้

๑. ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช และองค์พระบุพมหากษัตราธิราชเจ้า เนื่องในวโรกาสวันสถาปนากรุงเทพมหานครครบรอบ ๒๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ พระอาทิตย์ได้ทรงกลดให้เห็นเป็นที่มหัศจรรย์

๒. ในวันที่เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารค โดยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๙ เมื่อเสด็จ ฯ ออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้เกิดพายุอย่างแรงมีฝนตกหนักเคลื่อนที่ตามหลังขบวนเสด็จ ฯ แล้วก็ซาเม็ดไป และเมื่อเสด็จ ฯ ขึ้นประทับเรือพระที่นั่ง ที่ฉนวนน้ำ ท่าวาสุกรี ได้เกิดพายุฝนตามไล่หลังขบวนเสด็จฯ มาอย่างกระชั้นชิด เมื่อขบวนเสด็จ ฯ ถึงวัดอรุณราชวราราม พายุกลับสงบ ฝนหยุดตกขาดเม็ดสนิท เหตุการณ์ลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ เมื่อเสด็จ ฯ ไปประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ

๓. ในวันเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งถือได้ว่า เป็นกฎหมายที่สำคัญสูงสุดของประเทศแก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๐ เวลา ๑๗.๓๒ น. ได้เกิดฟ้าผ่าอย่างรุนแรงทันที และต่อมาได้มีพายุฟ้าผ่า ฟ้าคะนอง เกิดฝนตกหนักทั่วกรุงเทพมหานคร ในวันเดียวกันได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างแรงขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะที่บริเวณตอนใต้ของหมู่เกาะในประเทศญี่ปุ่นได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ถึง ๒ ครั้ง ปรากฏการณ์ครั้งนี้คล้ายคลึงกับวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรง ปราบดาภิเษก คือ มีจันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นล่วงหน้า และมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในวันพระราชพิธีนั้น

การเกิดปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ได้เป็นที่ยอมรับกันมาแต่โบราณกาลว่า เป็นพระราช กฤษฎาภินิหารของพระมหากษัตราธิราชเจ้าในยุคสมัยนั้น

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มโครงการทดลองปฏิบัติการ ฝนเทียมซึ่งชาวไร่ชาวนาทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “โครงการฝนหลวง” พระองค์ท่านได้ทรงสนพระทัยศึกษาแผนที่อากาศซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพ ดินฟ้าอากาศได้แก่อุณหภูมิ ความชื้น ความกดของอากาศ ความเร็วและทิศทางของลม ในวันเวลาปัจจุบัน และที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างจริงจัง เพราะข้อมูลเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการ ปฏิบัติการฝนเทียม นับว่าเป็นโชคดีของผม ที่ในช่วงเวลานั้นผมได้ปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณถวายงานในด้านการ ติดต่อสื่อสารส่วนพระองค์อยู่ ดังนั้นเมื่อได้ทรงกำหนดแผนปฏิบัติการฝนเทียมแต่ละครั้งแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ผมได้ปฏิบัติหน้าที่ถวายงานเกี่ยวกับการประสานงาน ถ่ายทอดแผนและคำสั่งปฏิบัติการ ซึ่งจะพระราชทานมาให้ผมตอนหลังเที่ยงคืนแล้วเป็นประจำทุกวัน เพื่อกระจายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยบินของกระทรวงเกษตร ฯ และสถานีตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาทั้งในส่วนกลาง และในท้องถิ่นซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการฝนเทียม กับมีหน้าที่กำกับการ ควบคุมดูแลการปฏิบัติการสื่อสารของหน่วยงานเหล่านี้ด้วย ผมจึงได้มีโอกาสมีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคการปฏิบัติการฝน เทียม และการศึกษาสภาพดินฟ้าอากาศจากแผนที่อากาศซึ่งได้ทรงพระกรุณาถ่ายทอดความรู้ ให้มากพอสมควร

ในโอกาสต่อมา ถึงแม้ว่าจะมิได้มีการปฏิบัติการฝนเทียม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังคงทรงศึกษาเทคนิคการพยากรณ์อากาศต่อไป จนกระทั่งทรงมีความรู้ความชำนาญในการพยากรณ์อากาศเป็นอย่างยิ่ง มิได้ด้อยกว่าผู้ชำนาญการในวิชาการแขนงนี้ทั้งภายใน และต่างประเทศ

บทเรียนที่ประเทศไทยได้รับจากกรณีวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกเมื่อวันที่ ๒๑ตุลาคม ๒๕๐๕ และจากพายุใต้ฝุ่น “เกย์” เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ นับว่าเป็นบทเรียนที่มีค่าสูงยิ่ง ซึ่งประเทศไทยต้องเซ่นสังเวยด้วยชีวิตมนุษย์ สัตว์ ทรัพย์สิน บ้านเรือน ไร่นา เป็นมูลค่ามหาศาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักถึงความทุกข์โศกสลดของพสกนิกร และทรงเมตตาสงสารผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ให้เป็นจำนวนมาก และไม่ทรงปรารถนาที่จะให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้น อีก ดังนั้น จึงได้ทรงสละเวลา และความสุขส่วนพระองค์ส่วนหนึ่ง ศึกษาแผนที่อากาศประจำวันที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย และข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศจากศูนย์ตรวจสอบพยากรณ์อากาศของ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านเครือข่าย Internet เป็นประจำวัน เพื่อเฝ้าติดตามสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศในภูมิภาคต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยได้ หากได้ทรงพบว่า มีการก่อตัวของลมฟ้าอากาศในลักษณะร่องความกดอากาศต่ำ แล้วมีการเพิ่มกำลังแรงไปในลักษณะเป็นดีเปรสชัน พายุโซนร้อน และพายุใต้ฝุ่นขึ้นในเส้นรุ้ง เส้นแวงที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ทั้งยังมีทิศทางการเคลื่อนที่มุ่งหน้าเข้ามาหาด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรง ติดตามเฝ้าสังเกตการณ์การเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงของลมพายุนั้นอย่างเคร่งเครียดโดยใกล้ชิดอยู่ทุกระยะ และเมื่อได้ทรงพิจารณาเห็นแน่ชัดว่า มีแนวโน้มที่ลมพายุนั้น จะมีโอกาสสร้างภัยพิบัติให้แก่พสกนิกรในพื้นที่หนึ่งใดได้ พระองค์จะทรงมีพระราชกระแส แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เตรียมพร้อมที่จะ ออกดำเนินการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยทัน ท่วงที

เหตุการณ์ที่สำคัญ ยิ่ง ครั้งล่าสุดที่อาจจะไม่มีผู้ใดได้สังเกตจดจำ และสมควรอย่างยิ่งที่จะบันทึกไว ้เพื่อเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ชาติไทย คือ ภัยพิบัติที่เกิดแก่หลายจังหวัดในภาคใต้ตอนบน อันเนื่องจากพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” พัดผ่านเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ พายุนี้ได้เริ่มก่อตัวในทะเลจีนตอนใต้ห่างจากแหลมญวนไม่มากนักโดยเริ่มก่อ ตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำมาเป็นดีเปรสชัน เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ แล้ว ได้ทวีความรุนแรงกลายเป็นพายุโซนร้อนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ต่อจากนั้นได้แปรสภาพเป็นพายุใต้ฝุ่นมีความเร็วสูงสุดรอบศูนย์กลาง ประมาณ ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนที่ผ่านแหลมญวน เข้าสู่อ่าวไทย มุ่งหน้าเข้าสู่บางจังหวัดในภาคใต้ตอนบนซึ่งได้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพร ลักษณะการก่อตัว ความรุนแรง และ ทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุใต้ฝุ่นนี้คล้ายกับพายุใต้ฝุ่น “เกย์” ซึ่งได้เคยก่อภัยพิบัติให้แก่จังหวัดเหล่านี้มาแล้วอย่างมหาศาล เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒

จึงเป็นการแน่นอน ที่สุด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงเฝ้าติดตามสังเกตการณ์การก่อตัว การเปลี่ยนแปลงของพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” ตั้งแต่จุดเริ่มต้นอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แม้แต่ตัวผมเองซึ่งมีความรู้ความเข้าใจ และสนใจในเรื่องดินฟ้าอากาศมาตั้งแต่สมัยที่ได้เคยร่วมถวายงาน ในการปฏิบัติการฝนเทียมก็ได้เฝ้าติดตามอยู่อย่างใกล้ชิดเช่นกัน จากข้อมูลที่ผมได้รับจากศูนย์ตรวจสอบอุตุนิยมวิทยาของบางประเทศผ่านเครือ ข่าย Internet โดยเฉพาะศูนย์รวมข่าวอุตุนิยมวิทยา และสมุทรวิทยา กับศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อเตือนภัยจาก พายุใต้ฝุ่นของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาประจำภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะกวมได้คำนวณและพยากรณ์ทิศทาง ความเร็วของพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” ไว้ล่วงหน้าว่า พายุจะมีความรุนแรงสามารถก่อความเสียหายให้แก่ จังหวัดต่างๆซึ่งอยู่ในเส้นทางผ่านไม่น้อยกว่าพายุใต้ฝุ่น “เกย์” ค่อนข้างแน่นอนคำพยากรณ์ดังกล่าวได้ระบุว่า ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ตามเวลาท้องถิ่น ๑๙.๐๐ น. พายุนี้จะมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด ๑๐.๘ องศาเหนือ ลองจิจูด ๑๐๐.๘ องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดที่จุดศูนย์กลางรุนแรงถึง ๗๕ นอต หรือ ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดย เคลื่อนที่มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ ๑๑ นอต หรือ ๑๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตรงเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพร โดยอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ ๒๘ กิโลเมตร และจะเคลื่อนที่ถึงฝั่งภายใน ๑ ชั่วโมงเศษเท่านั้น หากเป็นเช่นคำพยากรณ์ ทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพรคงจะถูกกวาดล้างโดยพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” จนหมดสิ้น สิ่งบอกเหตุดังกล่าวนี้ จึงได้สร้างความกังวลและ ความเคร่งเครียดพระทัยให้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

แต่โดยที่มิได้คาด คิด อีกไม่กี่นาทีก่อนที่จะเคลื่อนที่มาถึงฝั่ง พายุนี้ได้กลับอ่อนกำลังลงโดยฉับพลันมาเป็นพายุโซนร้อนมีความเร็วสูงสุดที่ จุดศูนย์กลางเพียง ๕๐ นอต หรือ ๙๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ทั้งทิศทางการเคลื่อนที่กลับเบี่ยงเบนขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย และถึงฝั่งที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขีนธ์ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ เวลา ๐๒.๐๐ น.จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพรจึงได้รับภัยพิบัติจากพายุนี้ไม่รุนแรงนัก ดูจะเป็นการผิดปกติอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันของพายุใต้ฝุ่นใน ลักษณะนี้ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ถ้าพายุยังเคลื่อนที่อยู่เหนือพื้นน้ำทะเลหรือมหาสมุทร พายุนั้นจะเพิ่มความแรง ความเร็วที่จุดศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น และจะลดลงเมื่อเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งแล้ว พายุโซนร้อน “ลินดา” นี้ก็เช่นกัน เมื่อเคลื่อนที่พ้นจากประเทศไทยลงสู่ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย ก็ได้เพิ่มความรุนแรง มากยิ่งขึ้นตามลำดับแปรสภาพกลับไปเป็นพายุใต้ฝุ่น หรือ ไซโคลน อีกครั้งหนึ่งในวันเวลาต่อมา

ผมมีความเชื่อและมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันของพายุ “ลินดา” ครั้งนี้เป็นปาฏิหาริย์ และจะเกิดขึ้นได้โดยอภินิหารของท่านผู้หนึ่งซึ่งได้บำเพ็ญบารมีมาอย่างสูง มีพลังอินทรีย์ทั้งห้าที่แรงยิ่งตามหลักของพระพุทธศาสนา ดังนั้น เมื่อได้นำเอาสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมืองที่ผ่านมาประมวล ก็น่าจะได้ข้อยุติว่าเป็นพระราชกฤษฎาภินิหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เท่านั้นอย่างแน่นอน ที่แสดงให้เห็นในลักษณะเดียวกับของพระบุพมหากษัตราธิราชไทยพระองค์อื่นๆ โดยเฉพาะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวสรุปไว้ในหนังสือ “กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้” ว่า

“.......ความปลอดภัยอันแท้จริงมามีเกิดขึ้นเพราะพระนเรศวรเป็นเจ้า พระองค์เดียว ผู้ทรงก่อให้เกิดความคิดใหม่ วิธีการใหม่ และความหวังใหม่ขึ้นในใจคนไทย ........ เพราะพระนเรศวรเป็นเจ้า ทรงปฏิบัติพระองค์ให้เห็นได้ชัดทั่วกันว่า พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกันของคนไทย มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วน พระองค์เองเลย แม้แต่น้อย .......... พระบรมราชกฤษฎาภินิหารของพระนเรศวรเป็นเจ้าจึงเป็นกฤษฎาภินิหารอันบดบังมิ ได้ ........”

ประชาชนคนไทยนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีโชคดีที่พระมหากษัตราธิราชซึ่งทรงไว้ซึ่ง ทศพิธราชธรรม ทรงมีพระปรีชาสามารถ ทรงมีพระราชอัจฉริยภาพสูงส่ง และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พวกเราเหลือคณานับ ดังนั้นใน วโรกาสที่สำคัญยิ่งที่วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ท่านได้เวียนมาบรรจบครบ รอบอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นการ สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราชาวไทยทุกคนจะได้ร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานถวายพระพรให้ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานตลอดไป

ที่มา: http://www.dharma-gateway.com/ubasok/special-02.htm

วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันฉัตรมงคล ๒๕๕๓ และวันคล้านวันบรมราชาภิเษกครบ ๓๐ ปี


ในวโรกาสวันฉัตรมงคลและวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกครบ ๖๐ ปี ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้ทรงพระเกษมสำราญในไอศูรย์สิริราชสมบัติ มีพระพลานามัยแข็งแรง สถิตย์เป็นมิ่งขวัญของชนชาวไทยตลอดกาลนานเทอญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

เอล็กซานเดอร์มหาราช

มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของกรีก นาม เอล็กซานเดอร์มหาราช , ภายหลังจากที่ได้เข้าครอบครอง อาณาจักรน้อยใหญ่มากมาย ก็ได้เดินทัพกลับบ้าน ระหว่างทางท่านได้ล้มป่วยลง และต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานานนับเดือน เมื่อความตายกำลังใกล้เข้ามา, เอล็กซานเดอร์ก็ระลึกขึ้นได้ว่า ไม่ว่าชัยชนะที่ได้มา หรือแม้แต่กองทัพอันเกรียงไกร หรือแม้แต่ดาบ อันคมกริบ หรือความมั่งคั่งทั้งหลายที่มีอยู่ หาได้มีประโยชน์อันใดไม่

ท่านได้เรียกให้ขุนพลทั้งหลาย เข้ามาพบและกล่าวว่า ข้าพเจ้าคงจะต้องจากโลกนี้ไปในเร็วๆ นี้ แต่ก่อนที่จะตาย ข้าพเจ้าขอให้ช่วยพวกท่านช่วยเติม เต็มความปรารถนา 3 ประการ ของข้าพเจ้า และอย่าให้ขาดแม้แต่สิ่งเดียว ขุนพลทั้งหลายต่างร้องไห้น้ำตานองหน้า และทุกคนเห็นพ้องกันที่ ะยึดถือและจะทำให้สำเร็จตามคำปรารถนานั้น

- ความปรารถนาข้อแรกของข้าพเจ้า : ข้าพเจ้าขอให้เพียงลำพังแพทย์ผู้ทำการรักษา เป็นผู้แบกโลงศพของข้าพเจ้า
- ความปรารถนาข้อที่สอง : เมื่อแบกโลงศพของข้าพเจ้าไปยังสุสาน เส้นทางที่นำโลงศพไปสู่สุสาน ขอให้โปรยด้วยทองคำ เงิน และอัญมณีต่างๆ ซึ่งข้าพเจ้าได้สะสมไว้ในท้องพระคลัง
- ความปรารถนาข้อที่สาม ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย : ขอให้นำมือทั้ง 2 ข้าง ของข้าพเจ้าห้อยไว้ข้างโลงศพ
ผู้คนทั้งหลายที่ได้มารวมกันอยู่ต่างล้วนสงสัยในความปรารถนาของพระราชาของพวกเขา แต่ก็ไม่มีใครกล้าเอ่ยถาม / หนึ่งในขุนพลอันเป็นที่รักยิ่งของกษัตริย์เอล็กซานเดอร์ ได้นำมือของเอล็กซานเดอร์ขึ้นมาจุมพิต และแนบมือนั้นไว้ที่หน้าอก(หัวใจ) ของเขา พร้อมเอ่ยว่า องค์พระราชา... พวกเราพร้อมจะดำเนินการเติมเต็มตาม
ความปรารถนาของพระองค์ เพียงแต่ขอพระองค์โปรดบอกเหตุผลว่า ทำไมพระองค์จึงขอให้ดำเนินการตามความปรารถนาเช่นนั้น
ถึงตอนนี้เอล็กซานเดอร์ ได้ถอนหายใจอยากลึกๆ และกล่าวว่า “ ข้าพเจ้าอยากให้ทั้งโลกได้รู้ไว้เกี่ยวกับ บทเรียน 3 เรื่องซึ่งข้าพเจ้าได้เรียนผ่านมาแล้ว”
- ที่ข้าพเจ้าต้องการให้แพทย์ผู้ทำการรักษาข้าพเจ้า เป็นผู้แบกโลงศพของข้าพเจ้า ก็เพื่อว่า ผู้คนทั้งหลาย จะได้ตระหนักไว้เสมอว่าไม่มีหมอคนได้ที่จะสามารถจะรักษา คนป่วยได้อย่างจริงๆ พวกหมอเหล่านั้นเขาไม่มีพลังอำนาจใดๆ ยื้อชีวิตจากความตายได้ ฉะนั้นขอให้อย่ายื้อชีวิตของใครให้คงอยู่ตลอดไปเลย
- ที่ข้าพเจ้า อยากให้โปรย ทอง เงิน ฯลฯ บนเส้นทางไปสู่สุสาน ก็เพื่อจะบอกผู้คนทั้งหลายว่า ... แม้แต่เศษเสี้ยวเดียว ของแก้วแหวน เงินทอง ซึ่งข้าพเจ้าหามาได้ข้าพเจ้าก็เอาไปไม่ได้
- และความปรารถนา ข้อสุดท้าย ... ที่ขอให้นำมือทั้ง 2 ข้างของข้าพเจ้า ห้อยไว้ ข้างนอกโลง .. ก็เพื่อว่า ผู้คนจะรู้เอาไว้ว่า ข้าพเจ้ามามือเปล่าในโลกนี้ และข้าพเจ้าก็จากโลกนี้ไปอย่างมือเปล่า

สุดท้ายในคำกล่าวของเอล็กซาน เดอร์ “ ขอให้ฝังข้าพเจ้า, ไม่ต้องสร้างอนุสรณ์สถานใดๆ, ปล่อยให้มือทั้ง 2 ห้อยอยู่ข้างนอกโลง เพื่อที่โลกจะได้รู้ว่า “บุคคลผู้ซึ่งเอาชนะมาแล้วทั้งโลก .... ในที่สุดก็ไม่เหลืออะไรติดมือไปเลย แม้แต่นิดเดียว”

จาก forworded mail